ภาคการผลิตไทย บนความท้าทายเชิงโครงสร้าง... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/columns/news-1543493

18 เมษายน 2567
ภาคการผลิตไทย บนความท้าทายเชิงโครงสร้าง... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/columns/news-1543493

หากมองเศรษฐกิจไทยในภาพรวม จะเห็นได้ว่าในระยะหลังภาคการผลิตมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนของภาคการผลิตในผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ที่ลดลงจากร้อยละ 28 ในปี 2555 มาอยู่ที่ราวร้อยละ 25 ในปี 2566

ขณะที่ข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ Manufacturing Production Index (MPI) แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา ดัชนี MPI หดตัวสูงถึงร้อยละ 3.8

และล่าสุด ดัชนี MPI เดือน ก.พ. 2567 ยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของปัจจัยเชิงวัฏจักร จากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง แต่หากใครเป็น FC ของหน่วยงานวิจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คงได้ยินกันมาบ้าง ว่าอีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “ปัจจัยเชิงโครงสร้าง” ในภาคการผลิตของไทยที่กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น

ในบทความนี้ผู้เขียนขอชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจข้อมูลในระดับจุลภาค (Granular Data) ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความเปราะบางเกิดขึ้นที่จุดใด รวมถึงฉายภาพอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจฉุดรั้งการเติบโตของภาคการผลิตในภาพรวม รวมถึงเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

มองย้อนไปในปีที่ผ่านมา ที่ภาคการผลิตของไทยหดตัวสูง พบว่าเกิดจากการหดตัวในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม โดยกว่าครึ่งของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่หดตัวมีสัดส่วนจำนวนโรงงานที่การผลิตหดตัวมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ โรงงานเหล็ก ยาง และพลาสติก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง และเฟอร์นิเจอร์ที่การผลิตหดตัวสูงเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนจำนวนโรงงานที่การผลิตหดตัวเกือบร้อยละ 80 ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ

สะท้อนว่าอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในภาคการผลิต แต่ผลกระทบรุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรมที่หลายคนมองว่ามีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน

สำหรับการประเมินว่าอุตสาหกรรมใดมีปัญหาเชิงโครงสร้างอาจไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นแรกคงต้องเห็นอาการหดตัวของการผลิตของอุตสาหกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เขียนประเมินจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หดตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่สูงกว่าการผลิตในภาพรวมเกือบ 2 เท่า โดยมีหลายอุตสาหกรรมที่ส่ออาการเหล่านี้ เช่น Hard Disk Drive (HDD), สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเหล็ก

ประเด็นที่สอง คือการหดตัวนั้นมีแนวโน้มจะเป็นอาการถาวร เพราะเกิดจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในตลาดโลก หรือตลาดในประเทศ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกของไทยกลับหดตัว เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

หรือการที่ไทยผลิตสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้สินค้านั้นมีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง เช่น HDD สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งถูกทดแทนด้วย Solid-State Drive (SSD) ทำให้ส่วนแบ่งของ HDD ในตลาดอุปกรณ์ Storage ลดลงจาก 83%

ในปี 2555 มาอยู่ที่ 54% ในปี 2565 รวมไปถึงการสูญเสียตลาดในประเทศให้กับสินค้านำเข้า สะท้อนจากสัดส่วนนำเข้าต่อยอดผลิตเพื่อขายในประเทศรวมนำเข้า (Import Penetration Ratio) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้างและเหล็ก เฟอร์นิเจอร์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ (EV)

หากพิจารณาปัจจัยด้านภาวะการผลิต ร่วมกับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในตลาดโลกและตลาดในประเทศ เบื้องต้นพบว่าอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ HDD สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และเหล็ก กลุ่มนี้คิดเป็นน้ำหนักมูลค่าเพิ่มราวร้อยละ 20 ของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งคงไม่ดีแน่หากปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งการเติบโตของภาคการผลิตต่อไป เพราะภาคการผลิตมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก มีสัดส่วนในมูลค่าการส่งออกกว่า ร้อยละ 80 และมีการจ้างงานสูงถึง 6 ล้านคน

ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรร่วมด้วยช่วยกัน เร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และยกระดับการเติบโตของภาคการผลิตไทย ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกใหม่ทั้ง Digital และ Green พัฒนาสินค้าไม่ให้ตกขบวน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ควรปรับกฎกติกาเพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการออกมาตรการส่งเสริม เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัวและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนช่วยพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน เพื่อให้มีแรงงานพร้อมก้าวไปกับผู้ประกอบการที่จะขยับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้


แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.